จากการค้นในกูเก้อเพิ่งจะรู้ว่า มะละกอเป็นพืชไม้ล้มลุก มีดอกเพศกระเทย เพศเมีย และ เพศผู้ (หลายดอก) กระเทยเป็นดอกที่มีทั้งเพศผู้และเพศเมียในดอกเดียวกัน จะให้ผลยาวสวย รูปทรงกระบอก เนื้อหนา เป็นที่ต้องการของคนปลูกและคนกิน (จิ๊กขอมูลของเขามาอีกที)
แต่เป็นเรื่องยากลำบากอย่างมากมายที่เราจะมองออกว่า น้องมะละกอที่ยังเป็นต้นเล็กเด็กเขียวอยู่นั้น คือเพศอะไร เราก็ต้องดูแลประคบประหงมกันจนกว่าสาวน้อย (หรือชายน้อย) มะละกอ จะเริ่มแตกเนื้อสาวออกดอกให้เราได้เห็นหลังจากปลูกได้ประมาณ ๒-๓ เดือน (นานไปไม่ทันใจเอาซะเลย)
มะละกอนั้นปลูกง่าย แต่ให้ผลยาก (มั้ง) ปลูกขึ้นแต่ไม่เห็นดอกออกผลซะที ปลูกมาปีกว่าแล้วเนี่ย สงสัยเป็นหมันอ่ะมั้ง ถ้าปลูกไป ๒-๓ เดือนแล้วออกดอกเป็นเพศผู้ ก็โฮ ฮือ ฮากันเล็กน้อย หรือต้องสรรหาวิธีศัลยกรรมให้มะละกอเป็นเพศกระเทย เรามาดูเพศของมะละกอก่อนจะทำการเจี๋ยนทิ้งกันนะคะ หึๆ
ลักษณะดอกกระเทย
เพศกระเทยคือต้นที่เราฝันใฝ่ตั้งใจว่าจะปลูกให้ได้ แต่ก็ยังปลูกไม่ได้สักที สงสัยดวงชงกัน ช่อดอกจะแตกแขนงสั้นๆ ลักษณะของดอกกระเทยก่อนจะบานจะมีลักษณะเรียวยาวแค่ ๒ ใน ๓ ของดอก
เมื่อเราแกะกลีบดูจะมีเกสรตัวเมียค่อนข้างยาว และมีเกสรตัวผู้ขนาดเล็กเรียงกัน ๑0 อัน ช่วงที่ออกดอกต้องหมั่นใส่ปุ๋ยและรดน้ำ ถ้าขาดน้ำดอกจะร่วง มะละกอจะไม่ติดผลนะจ๊ะ ระวังด้วยหล่ะ
ดอกเพศเมีย
มีคนเอามะละกอผลสั้นๆ มาฝาก เพิ่งรู้ว่าเป็นผลมะละกอเพศเมีย กินคำเดียว... เลิก! ไม่อร่อยเลยง่ะ ผลกลวงมาก เนื้อแทบไม่มี กระรอกบินที่เลี้ยงไว้เลยได้อานิสงฆ์กินอย่างเอร็ดอร่อยไปแทน
ดอกจะมีลักษณะอ้วนป้อม ใหญ่กว่าดอกกระเทย แต่ก้านดอกสั้นเหมือนกัน ไม่มีเกสรตัวผู้ ให้ผลกลมอ้วนสั้น เนื้อบาง มีลักษณะแตกต่างจากดอกกระเทยคือ กลีบดอกจะยาวจนสุดปลายดอกนั่นเอง
ดอกเพศผู้
จะมีขนาดเป็นช่อเล็กๆ ก้านดอกจะยาว มีเกสรตัวผู้ 10 อัน แม้จะมีเกสรตัวเมียขนาดเล็กมาก แต่มะละกอเพศผู้จะไม่ติดผล เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิต่ำลง ความชื้นในอากาศเริ่มสูงขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ดอกเพศผู้จะติดผล และจะเป็นผลที่มีก้านยาวมากๆ
ขอขอบพระคุณภาพสวยๆ และข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ นะจ๊ะ (จิ๊กของเขามาตามเคย แหะๆ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น